![lpn, workshop](https://static.wixstatic.com/media/d90624_ed7156dd8f00435689c3c3a51491f8f9~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_653,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/d90624_ed7156dd8f00435689c3c3a51491f8f9~mv2.jpg)
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายที่เหมาะสมต่อสถานการณ์จริงต่อภาครัฐ ในเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กในสถานรองรับ และกลุ่มเด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาส ผ่านเวทีสานเสวนา “สถานรองรับเด็กสำหรับกลุ่มเด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาส มีความเปราะบางพิเศษ กับรูปแบบการปกป้องคุ้มครองที่เหมาะสมตามสถานการณ์จริงในสังคมไทย และข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อการคุ้มครองดูแลเด็กตามหลักการด้านมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และกฎหมายคุ้มครองเด็กในประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ร่วมกับ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ATN) องค์กร Operation Underground Railroad (OUR) และมูลนิธิพิทักษ์สตรี ณ ห้องประชุมโรงงานอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร
นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กว่า
“เด็กจะต้องได้รับการดูแลจากพ่อแม่ หรือในรูปแบบของครอบครัวอื่น ๆ ถ้าเด็กไม่ได้อยู่กับครอบครัวหรือครอบครัวไม่มีความพร้อม ก็ต้องทำให้ครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่ดูแลเด็กนั้นพร้อม หากมาอยู่สถานสงเคราะห์ก็จะต้องเป็นครอบครัว ดูแลเด็กให้เหมือนกับที่ครอบครัว”
![lpn, speaker,](https://static.wixstatic.com/media/d90624_11aa73b958af4918ad1ea00ddbd86b6e~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_653,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/d90624_11aa73b958af4918ad1ea00ddbd86b6e~mv2.jpg)
นายสุรพงษ์กล่าวว่าการจัดการบริการและสวัสดิการให้กับเด็ก ก็จะต้องคำนึงถึงสภาวะความเปราะบางของเด็ก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็กสูงสุด และมีความเหมาะสม กระบวนการทุกอย่างจะต้องให้เด็กเป็นศูนย์กลาง รวมถึงต้องดึงการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชนและส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาด้วย เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนกันและกันในการหาทางออก และให้เด็กสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวได้ในท้ายที่สุด
ด้านนางสาวทานตะวัน ตัวแทนเยาวชนอาเซียนได้สะท้อนประสบการณ์ว่า
“เมื่อก่อนหนูไม่รู้เลยว่าชีวิตในวันข้างหน้าของหนูจะเป็นยังไง เพราะชีวิตแต่ละวันก็มีแค่ตื่นมากินข้าว ดูการ์ตูน แล้วก็นอน พอได้มาอยู่ที่บ้าน LPN ได้ร่วมกิจกรรมการทบทวนตัวเอง หนูก็เริ่มเห็นหนทางข้างหน้าว่าหนูก็ยังมีคุณค่าในตัวเองนะ”
ส่วนนายชั้นรอด ตัวแทนเยาวชนจากโครงการบ้านแม่น้ำ ซึ่งศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มุ่งหวังที่จะเห็นการจัดการบริหารที่เหมาะสมและเป็นมิตรต่อเด็กในสถานสงเคราะห์ผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงอยากให้มีการประเมินประสิทธิภาพของนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ด้านการคุ้มครองเด็กด้วย ส่วนทางผู้ใหญ่เอง ก็มุ่งหวังให้เกิดยุทธศาสตร์ที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และควรมีการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อนำมาเป็นแบบและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาถึงข้อเท็จจริงทางสังคมเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานของทุกภาคส่วนต่อไป
![lpn,speaker](https://static.wixstatic.com/media/d90624_cc009a85d27d4052ae526f8062eb87b8~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_1470,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/d90624_cc009a85d27d4052ae526f8062eb87b8~mv2.jpg)
วงเสวนาพูดคุยกันถึงแนวทางการสร้างระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งภาครัฐเองก็มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาคเอกชนจึงมีความสำคัญอย่างมากในการจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมเด็กทุกคน รวมถึงยังมีการเสนอให้ทำกลไกการเฝ้าระวังในระดับชุมชน จัดการตรวจสอบภายในของหน่วยงานและคนที่ทำงานด้านเด็ก และขอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
แพทย์หญิงนลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมและผู้ดูแลเด็กที่ดีและมีความพร้อมเพื่อให้การจัดสวัสดิการและกระบวนการปกป้องคุ้มครองเด็กนั้นมีประสิทธิภาพ และยิ่งไปกว่านั้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อเรื่องการใช้ความรุนแรงกับเด็กก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งกล่าวว่า
“การปกป้องคุ้มครองเด็กที่ดี คือการสร้างผู้ใหญ่ที่ดีในการดูแลเด็ก ให้ผู้ใหญ่ที่อยู่กับเด็กในทุกระดับดูแลเด็กได้”
ด้านผศ.ดร. สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรมกล่าวว่า
“หลาย ๆ ที่ที่เราก็เจอความรุนแรงในเด็ก เพราะผู้ใหญ่ในสังคมยังมีความคิดความเชื่อเรื่องการดุ การด่า การตี เด็กอยู่ เราจึงต้องให้ความรู้และพัฒนาผู้ที่ดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไม่ใช้ความรุนแรงและเคารพต่อสิทธิเด็ก”
![lpn, meeting](https://static.wixstatic.com/media/d90624_851cb525f34f44bea91af56232ac6e30~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_653,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/d90624_851cb525f34f44bea91af56232ac6e30~mv2.jpg)
นอกจากนี้การเสวนาได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายใน 5 ประเด็น ได้แก่
บริการและสวัสดิการที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก
มาตรการในการทำนโยบายคุ้มครองเด็กที่เหมาะสมและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม ชุมชนและเด็ก รวมทั้งกระบวนการวิธีการและมาตรการตรวจสอบที่เป็นมิตรต่อเด็ก
กระบวนการเยียวยาที่เพียงพอและเหมาะสมสำหรับเด็กและผู้ดูแลเด็ก
การบริหารจัดการงบประมาณเพื่อจัดการรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมกับเด็กในประเทศไทย
กระบวนการสร้างความเข้าใจต่อสังคม สร้างชุมชนคุ้มครองเด็ก เรื่องการดูแลที่เหมาะสมในสถานสงเคราะห์
ซึ่งจะรวบรวมความคิดเห็นที่ได้ทั้งหมดจัดทำข้อเสนอนโยบายต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ: 084-992-9594
ผู้ประสานงานกลางกลุ่มเครือข่ายคุ้มครองเด็กเฉพาะกิจ
Comentarios